วันพฤหัสบดีที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2554

ร่วมงานทำบุญฉลองอายุวัฒนมงคล 82 ปี พระธรรมเมธาจารย์ (อิ่ม อรินฺทโม)

เมื่อวันที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2554 ระหว่างเวลา 8.00 น.- 12.00 น. ได้มีพิธีการเจริญพระพุทธมนต์และถวายภัตตาหารเพลแด่พระภิกษุสงฆ์และสามเณร ที่วัดโกเมศรัตนาราม อันเป็นสถานที่ตั้งของ มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย วิทยาเขตสิรินธร ห้องเรียนวัดโกเมศรัตนาราม  เนื่องในงานทำบุญฉลองอายุวัฒนมงคล 82 ปี พระธรรมเมธาจารย์ (อิ่ม อรินฺทโม) รักษาการเจ้าอาวาสวัดโกเมศรัตนาราม

ในงานนี้ได้มีพระภิกษุสงฆ์สามเณรและบรรดาญาติโยมพุทธศาสนิกชนมาร่วมงานเป็นจำนวมมาก และพวกเราชาวห้องเรียนวัดโกเมศรัตนารามอันประกอบด้วยพระอาจารย์ ผู้บริหาร คณาจารย์ ตลอดจนนักศึกษาก็ได้เข้ามามีส่วนร่วมในงานนี้อย่างเต็มที่ และในช่วงท้ายของงาน พระเดชพระคุณพระธรรมเมธาจารย์ได้เมตตาแสดงธรรมโอวาทแก่พวกเราและได้เมตตาฉายรูปเป็นอนุสรณ์ร่วมกับพวกเราด้วย

พระเดชพระคุณพระธรรมเมธาจารย์ เป็นผู้มีบทบาทสำคัญยิ่งในการเป็นแม่กองงานก่อสร้างวัดโกเมศรัตนารามมาตั้งแต่ต้น งานก่อสร้างที่พระเดชพระคุณมีบทบาทเป็นแม่กองงานชิ้นล่าสุดคืออาคารเรียน มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย วิทยาเขตสิรินธร ห้องเรียนวัดโกเมศรัตนาราม ซึ่งกำลังจะแล้วเสร็จอย่างสมบูรณ์ในอีกไม่กี่วันข้างหน้านี้

นอกจากนั้นแล้ว พระเดชพระคุณพระธรรมเมธาจารย์ ก็ยังมีบทบาทสำคัญยิ่งในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา คือพระเดชพระคุณมีตำแหน่งเป็นรองประธานกรรมการบริหารสำนักฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ ซึ่งมีบทบาทในการฝึกอบรมพระธรรมทูตเพื่อส่งไปเผยแผ่พุทธศาสนาทั้งในทวีปยุโรปและอเมริกา

ในธรรมโอวาทที่พระเดชพระคุณท่านได้เมตตาให้แก่พวกเราชาวห้องเรียนวัดโกเมศฯในตอนหนึ่ง  พระเดชพระคุณท่านได้กล่าวถึงงานของพระธรรมทูตในต่างประเทศว่าพระเดชพระคุณท่านได้เดินทางไปดูงานพระธรรมทูตในต่างประเทศทั้งในยุโรปและอเมริกาหลายประเทศและได้สร้างวัดในต่างประเทศมีจำนวนมากถึง 108 วัดแล้ว






วันพุธที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2553

อาคารนอนของสามเณรวัดโกเมศรัตนาราม


อาคารนอนของสามเณรของฝ่ายปริยัติธรรม

ซึ่งสามเณรเหล่านี้ต่างหลั่งไหลกันมาจากทั่วทุกสารทิศ ทั่วทุกภาคของเมืองไทย
เพื่อศึกษาเล่าเรียนนักธรรม-บาลี-มัธยมสายสามัญ ม.1-ม.6
ได้อาศัยที่นี่เป็นที่จำวัดพักผ่อนหลับนอน

อาคารแห่งนี้ตามข่าวบอกว่ามีหลายห้อง
สามารถรองรับสามเณรได้นับร้อยรูป

โรงเรียนพระปริยัติธรรม วัดโกเมศรัตนาราม




โรงเรียนพระปริยัติธรรม วัดโกเมศรัตนาราม

เป็นสถานศึกษาเล่าเรียนของสามเณร ซึ่งปัจจุบันมีจำนวนประมาณ 90 รูป
โดยมาจากทั่วทุกภาคของประเทศไทย ภาคที่มากันมากที่สุดเกิน 70 เปอร์เซ็นต์คือภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รองลงมาคือจากภาคเหนือ ภาคใต้ ภาคตะวันออก ภาคตะวันตก และที่น้อยที่สุดคือภาคกลาง

ได้จัดการศึกษาแก่สามเณรเหล่านี้ ทั้งฝ่ายนักธรรม-บาลี (น.ธ.ตรี-น.ธ.เอก, เปรียญ 1-2 และ 3) และสายสามัญตั้งแต่ ม.1-ม.6

ดูเถิดท่านสาธุชนทั้งหลาย! มันช่างเป็นเรื่องที่สัมฤทธิ์ผลเป็นไปตามคำอุทิศถวายพระอาราม
วัดโกเมศรัตนาราม ของคุณตวงรัตน์ โกเมศ เสียจริงๆ


ท่านอุทิศไว้ที่ตรงกลางข้างประตูทางเข้าโบสถ์ว่า

"ข้าพเจ้านางตวงรัตน์ โกเมศ  ขอน้อมอุทิศถวายโบสถ์และ
พระอาราม โกเมศรัตนาราม แห่งนี้เป็นพุทธบูชา
เพื่อเป็นแหล่งความรู้-ศีลธรรม-จริยธรรม-และที่พึ่งทางใจ
ของชนชั้นทั้งปวง ขอให้ผลบุญนี้จงเป็นปัจจัย
ให้ข้าพเจ้า ได้พบพระพุทธศาสนาไปทุกชาติ-เทอญฯ

หอระฆังวัดโกเมศรัตนาราม

หอระฆังวัดโกเมศรัตนาราม
สร้างอยู่กลางสระน้ำ
เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก
มีสะพานซีเมนต์เชื่อมเข้าหาฝั่งทั้ง 4 ทิศ

อาคารห้องเรียนวัดโกเมศรัตนาราม วิทยาเขตสิรินธรราชวิทยาลัย




อาคารห้องเรียนวัดโกเมศรัตนาราม ถ่ายจากมุมกล้องสามมุม

อาคารห้องเรียนวัดโกเมศรัตนาราม วิทยาเขตสิรินธรราชวิทยาลัย
มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย
จะแล้วเสร็จและทำพิธีเปิดอาคารในวันที่ 22 มกราคม 2554
ซึ่งตรงกับวันเกิดของคุณตวงรัตน์ โกเมศ ผู้สร้างวัดโกเมศรัตนารามพอดี

อาคารหลังนี้สร้างด้วยเงินของมูลนิธิเล็ก โกเมศ
ตั้งชื่ออาคารว่า "อนุสรณ์นางตวงรัตน์"

เป็นอาคารสามชั้น
จะเป็นทั้งอาคารของฝ่ายบริหาร ห้องสมุด และห้องบรรยาย

และนี่ก็คือผลสัมฤทธิ์ในระดับสูงขึ้นตามเจตน์จำนงของผู้สร้างวัดโกเมศรัตนาราม
คือคุณตวงรัตน์ โกเมศ เพราะที่อาคารแห่งนี้ต่อไปก็จะเป็นที่ศึกษาเล่าเรียน "ของชนชั้นทั้งปวง"
ทั้งพระภิกษุ สามเณร และประชาชนชายหญิงจากทั่วทุกสารทิศ ที่หลั่งไหลกันมาศึกษาหาความรู้ทั้งในระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก

คำจารึกในการสร้างวัด และโบสถ์วัดโกเมศรัตนาราม


หากเข้ามาที่ใน วัดโกเมศรัตนาราม นี้แล้ว ต้องหาโอกาสไปอ่านคำจารึกที่ติดอยู่ตรงหน้าโบสถ์
วัดโกเมศรัตนาราม ให้ได้ ท่านก็จะทราบข้อมูลเพิ่มเติมว่ามีท่านผู้ใดบ้างที่มีบทบาทและมีส่วนร่วม
ในการก่อสร้าง วัดโกเมศรัตนาราม และก็จะได้ทราบวัตถุประสงค์และคำอุทิศของท่านในการก่อสร้างวัดโกเมศรัตนาราม ในคราวนี้ด้วย

ข้อความที่จารึกไว้ที่ตรงหน้าโบสถ์ว่าดังนี้

พระอุโบสถนี้
ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา
จาก
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
พระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช
รัชกาลที่ ๙ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๑๒ ตอนที่ ๑๐ ง
ลงวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๘
ชื่อว่า วัดโกเมศรัตนาราม
สมเด็จพระวันรัต(จับ)
ทรงทำพิธีวางศิลาฤกษ์
เมื่อวันที่ ๒๗ มีนาคม ๒๕๒๙
พระราชดิลก(อิ่ม) เป็นแม่กองอำนวยการสร้าง
นางตวงรัตน์ โกเมศ เป็นผู้ถวายที่ดิน
และออกทุนทรัพย์ในการก่อสร้างส่วนใหญ่

คำอุทิศ
ข้าพเจ้านางตวงรัตน์ โกเมศ  ขอน้อมอุทิศถวายโบสถ์และ
พระอาราม โกเมศรัตนาราม แห่งนี้เป็นพุทธบูชา
เพื่อเป็นแหล่งความรู้-ศีลธรรม-จริยธรรม-และที่พึ่งทางใจ
ของชนชั้นทั้งปวง ขอให้ผลบุญนี้จงเป็นปัจจัย
ให้ข้าพเจ้า ได้พบพระพุทธศาสนาไปทุกชาติ-เทอญฯ

ผู้สร้างวัดโกเมศรัตนารามคือนางตวงรัตน์ โกเมศ

นางตวงรัตน์ โกเมศ เป็นผู้บริจาคที่ดินและทุนทรัพย์ส่วนใหญ่ในการก่อสร้างวัดโกเมศรัตนาราม


ชื่อของวัดโกเมศรัตนาราม ก็เป็นการตั้งโดยนำเอาชื่อและนามสกุลของผู้สร้างมาตั้ง
กล่าวคือ โกเมศ+รัตน+อาราม มาสมาสและสนธิกัน สำเร็จรูปเป็น โกเมศรัตนาราม
แปลได้ว่า อารามของนางดวงรัตน์ โกเมศ  ช่างเป็นการตั้งชื่อที่มีความถูกต้องตามหลัก
ของอักษรศาสตร์ดีเยี่ยมอะไรอย่างนี้


คำว่า โกเมศ แปลว่า ดอกบัว  คำว่า  รัตนะ แปลว่า แก้วมณี เพราะฉะนั้น ตราของ วัดโกเมศรัตนาราม จึงเป็น
ตราแก้วมณีทอแสงอยู่เหนือดอกบัว


ตราแก้วมณีทอแสงอยู่เหนือดอกบัว ปรากฏให้เห็นอย่างเด่นชัดที่หน้าบันพระอุโบสถหรือโบสถ์ของ วัดโกเมศรัตนาราม


หากท่านขยันเดินชมตามอาคารต่างๆของวัดโกเมศรัตนาราม นางตวงรัตน์ โกเมศ ท่านจะจารึกคำอุทิศให้แก่บิดามารดาของท่าน คือ นายเล็ก โกเมศ และนางสวาสดิ์ โกเมศ


เป็นที่น่าสังเกตว่า จะมีสัญลักษณ์เป็นรูปดอกบัวติดอยู่ที่กำแพงแก้วของโบสถ์ วัดโกเมศรัตนาราม ทั้งสี่ด้าน  แม้แต่ทางเข้าโบสถ์ก็มีกระถางปลูกดอกบัว  ที่เสาไฟก็เป็นรูปดอกบัว และในสระน้ำที่หน้าวัดก็ปลูกดอกบัวงามเต็มทั้งสระ



และที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งที่สอดประสานไปด้วยก็คือ วัดโกเมศรัตนาราม ตั้งอยู่ที่ตำบลเชียงรากน้อย อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี  ซึ่งคำว่า ปทุมธานี ก็แปลว่า เมืองดอกบัว เสียด้วยสิครับท่าน

Flagcounter

free counters

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

บทความที่ได้รับความนิยม